กรณีรถยนต์เกิดลุกไหม้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย ดังนั้นการขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเรียนรู้ ทั้งปัจจัยภายนอกอื่นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพาหนะที่ใช้อยู่ทุกวัน ก็ต้องทำความเข้าใจในเรื่องเครื่องยนต์เบื้องต้นด้วย ที่สำคัญสำรวจสภาพรถก่อนการเดินทางทุกครั้ง จะได้ไม่เกิดเรื่องร้ายๆ กับตนเอง วันนี้มีข้อแนะนำดีๆ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยมาฝากสำหรับผู้ใช้รถยนต์ทุกคน

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ความรู้ว่า อุบัติเหตุไฟไหม้รถยนต์มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกระบบเครื่องยนต์ เช่น ตัวถังได้รับความกระทบกระเทือนจนเกิดประกายไฟ ส่วนปัจจัยภายใน เกิดจากความร้อนเชื้อเพลิงและประกายไฟมารวมตัวกันในระดับที่เหมาะสม จึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่รถที่มักเกิดเพลิงไหม้มักเป็นรถรุ่นเก่าที่ผ่านการปรับแต่งสภาพ และใช้อะไหล่ที่ไม่มีคุณภาพหรือต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น ใช้สายไฟต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือการใช้อะไหล่ที่ไม่ได้ขนาด ทำให้เกิดการเสียดสีกันจนเกิดประกายไฟ หากมีความร้อนและเชื้อเพลิงจะทำให้เกิดเพลิงไหม้เครื่องยนต์ ส่วนรถใหม่ก็อาจเกิดเพลิงไหม้ได้ หากเจ้าของรถไม่ใส่ใจดูแลรักษาสภาพเครื่องยนต์ เช่น หม้อน้ำแห้ง ฝาปิดถังน้ำมันเชื้อเพลิงมีรอยแตกร้าว เป็นต้น ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้รถควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้ คือ
ก่อนขับรถ...ควรตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน โดยการเติมน้ำหม้อน้ำในระดับที่กำหนด ดูว่าท่อน้ำมันเชื้อเพลิงไม่มีรอยรั่ว ไม่มีเศษวัสดุติดในหม้อน้ำและท่อยาง หากพานมีความตึงในค่าที่กำหนด โดยเฉพาะกระโปรงหน้ารถ หากมีเขม่าดำเกาะแสดงว่าเครื่องยนต์ทำงานไม่สมบูรณ์ และควรตรวจดูใต้ท้องรถด้วย หากมีร่องรอยน้ำมันหยดควรรีบแก้ไขโดยด่วน รวมทั้งจัดเตรียมขวดน้ำ และถังดับเพลิงเคมีขนาดเล็กไว้ด้านข้างคนขับ เพื่อสามารถหยิบมาใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
ขณะขับรถ...รถส่วนใหญ่มักเกิดเพลิงไหม้ในขณะที่รถกำลังวิ่ง ดังนั้น ผู้ขับรถควรสังเกตบริเวณกระโปรงหน้ารถ เพราะเป็นที่ตั้งของเครื่องยนต์และสายไฟที่อาจทำให้เกิดประกายไฟ และกระโปรงหลังรถ โดยเฉพาะรถที่ติดตั้งถังก๊าซ หากรถเกิดอาการกระตุกเมื่อสตาร์ทหรือขณะขับรถ ควรนำรถไปตรวจสอบสภาพทันที เพราะอาการดังกล่าวแสดงว่าเครื่องยนต์ทำงานขัดข้องหรือถังน้ำมันรั่ว จึงทำให้มีอากาศเข้าไปในตัวถังจนเกิดการเผาไหม้ไม่สม่ำเสมอ
กรณีเกิดเพลิงไหม้รถ...ผู้ขับขี่ควรตั้งสติ แล้วรีบนำรถจอดข้างทางทันทีและดังเครื่องยนต์ เพื่อตัดสัญญาณไฟ แล้วรีบโทรแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย (191) ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (199) สายด่วนนิรภัย (1784) แต่หากเกิดเพลิงไหม้เพียงเล็กน้อย ให้นำผ้าแห้งหรือผ้าที่เปียกน้ำหรือทรายมาโปะ หรือตบบริเวณที่เกิดไฟไหม้ หรือเจาะปากขวดน้ำเป็นรูเล็กๆ แล้วฉีดบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ และหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ให้รีบหนีออกห่างจากรถที่เกิดเพลิงไหม้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันรถระเบิด ถ้าที่เกิดเพลิงไหม้เป็นรถที่ใช้ระบบก๊าซควรรีบปิดวาล์วถังก๊าซ หากเป็นวาล์วอัตโนมัติให้เปิดฝากระโปรงแบบแง้มๆ พร้อมดับเพลิงตามวิธีข้างต้น ที่สำคัญ ไม่ควรซื้อรถยนต์มือสองที่ไม่ทราบประวัติการขับขี่ เพราะรถบางคันอาจผ่านการดัดแปลงสภาพ ใช้อะไหล่หรือชิ้นส่วนที่ไม่มีคุณภาพ และหมั่นตรวจสอบสภาพรถเป็นประจำ รวมทั้งขับรถในอัตราความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลดแรงปะทะที่อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้รถ
คำแนะนำต่างๆ นี้รู้แล้วปฏิบัติให้เป็นนิสัยด้วยจึงจะปลอดภัยในการขับรถอย่างแท้จริง